หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขนส่งทางบกจับมือเซ็นทรัล จ่ายภาษีรถวันเสาร์-อาทิตย์

ขนส่งทางบกจับมือเซ็นทรัล จ่ายภาษีรถวันเสาร์-อาทิตย์

 นายสมชัย ศิริวัฒนโชค อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจ จัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่รับชำระภาษีรถประจำปี ณ ห้างสรรพสินค้า ในเครือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนใช้บริการในวันเสาร์–อาทิตย์ โดยจะเปิดสาขาแรก ที่ห้างเซ็นทรัล รามอินทรา เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้ ตั้งแต่เวลา 11.00-18.00 น. และในอนาคตจะมีการขยายการให้บริการไปยังสาขาอื่นต่อไป สำหรับผู้ที่ต้องการชำระภาษีรถที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สามารถใช้บริการที่บริเวณ ท็อปส์มาร์เก็ต เซ็นทรัล รามอินทรา ในเครือบริษัทเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น โดยให้นำหลักฐานการทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาแสดง ซึ่งหากรถเก๋ง รถปิกอัพ รถตู้ ที่อายุการใช้งานเกิน 7 ปีขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์อายุการใช้งานเกิน 5 ปี ขึ้นไปต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) มาแสดงด้วย โดยจะมีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตามหลังจากชำระภาษีแล้ว จะได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี (ป้ายวงกลม) ทันที เช่นเดียวกับมาติดต่อชำระภาษีรถที่กรมการขนส่งทางบก หรือ สำนักงานขนส่งทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1584 โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 กรมฯ ได้ให้บริการออกหน่วยเคลื่อนที่รับ  ชำระภาษี  รถที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้ง 13 สาขา ได้แก่ สาขาลาดพร้าว รามอินทรา รัชดาภิเษก บางปะกอก เพชรเกษม อ่อนนุช สุขาภิบาล 3 บางบอน สุวินทวงศ์ แจ้งวัฒนะ บางใหญ่ สำโรง และศรีนครินทร์ โดยมีประชาชนมาใช้บริการในแต่ละเดือนเป็นจำนวนมาก.

 ที่มา เดลินิวส์

คปภ.จับเข่าคุยภาคเอกชน เพิ่มศักยภาพธุรกิจประกันภัยไทย

 

(24ส.ค.2555) - นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยการประชุมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจประกันภัยไทยก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนกำหนดนโยบายเชิงรุก ผ่านการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ ประกันวินาศภัย พ.ศ. .. การผ่อนคลายด้านกฎ ระเบียบในการกำกับ เช่น การให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้ภาคธุรกิจ  ประกันภัย  มีฐานะการเงินที่มั่นคง มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน รวมถึงการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย กรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (Micro insurance) ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้สะดวกมากขึ้น 


นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือสมาคมประกันวินาศภัยร่วมเสนอความคิดเห็น การปรับปรุงเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย และการจัดทำระบบ Do-Not-Call List สำหรับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางโทรศัพท์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย และสามารถปฏิบัติได้จริง รวมถึงให้ติดตามความคืบหน้าการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากเหตุอุทกภัย และการประกันภัยข้าวนาปีประจำปี 2554 และขอให้กำชับบริษัทสมาชิกให้ส่งรายงานข้อมูลการรับประกันภัยรถตามพรบ. ต่อนายทะเบียนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มต้นให้ความคุ้มครอง เพื่อให้สำนักงาน คปภ. มีข้อมูลในการให้บริการประชาชนได้ครบถ้วน ทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ และการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลผ่านระบบ E-Claim ซึ่งผู้ประสบภัยจากรถไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้แนะนำให้บริษัทประกันภัยให้บริการตรวจสอบข้อมูลการประกันภัยผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้ประชาชนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสามารถตรวจสอบระยะเวลาคุ้มครอง ข้อมูลต่างๆ เพื่อความถูกต้องสมบูรณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยด้วย 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบนโยบายให้คณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนพิจารณาถึงอนาคตของอุตสาหกรรมประกันภัยไทยในอีก 10 - 20 ปีข้างหน้า AEC เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่จะสร้างความเข้มแข็ง สร้างมาตรฐานสากลให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ประกอบกับในเดือนธันวาคมนี้สำนักงาน คปภ. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือถึงความร่วมมือด้านการประกันภัย การปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบด้านการประกันภัย รวมถึงมาตรการกำกับดูแล เพื่อรองรับการปลี่ยนแปลงของแต่ละประเทศในอาเซียน
ที่มา ข่าวประกันภัย

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประกันภัยรถยนต์ราคาถูก ประกันชั้น1 3พลัส 2พลัส: คปภ. เผยตัวเลขธุรกิจประกันภัย 5 เดือนแรก โต 19 %นา...

ประกันภัยรถยนต์ราคาถูก ประกันชั้น1 3พลัส 2พลัส: คปภ. เผยตัวเลขธุรกิจประกันภัย 5 เดือนแรก โต 19 %นา...: คปภ. เผยตัวเลขธุรกิจประกันภัย 5 เดือนแรก โต 19 % นายประเวช องอาจสิทธิกุลเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.)...

ทำอย่างไร เมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ

 


รื่องปวดหัวที่สุดของผู้ใช้รถ คือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ต้องมายืนเถียงกับคู่กรณีกลางแดดเปรี้ยง

แน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเจอเรื่องแบบนี้ ดังนั้น การมีประกันภัยรถยนต์เพื่อลดความยุ่งยาก จึงเป็นเหตุผลแรกๆ ของหลายคน และก็ทำให้หลายคนเลือกประกันภัยประเภท 1 เพราะเชื่อว่าจะได้รับการดูแลระดับเฟิร์สต์คลาส

แต่ในสถานการณ์จริง เมื่อประกันมาถึง อาจจะมีความยุ่งยากก็ได้ ถ้าผู้ขับขี่นั้นไม่มีความพร้อมในเรื่องคุณสมบัติ

เรื่องที่ไม่ซับซ้อน แค่ขับรถชนกัน ก็เรียกตัวแทนเคลมประกันมาคุย ก็น่าจะจบ แต่มาลองดูว่า ปัญหานั้นอยู่ที่ตรงไหนได้บ้าง

ผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป...ใช่ครับ ก็คนขับรถนั้นต้องมีใบอนุญาตและกรมขนส่งทางบกออกให้เฉพาะคนที่อายุถึงเกณฑ์ 18 ปี แต่ทุกวันนี้ ท่านเคยมองไปรอบข้างยามอยู่หลังพวงมาลัยหรือไม่ เด็กหนุ่มสาวหน้าตาละอ่อน บางคนผมเกรียนแบบนักเรียน ม.ต้น ดูอย่างไรก็ไม่มีทางอายุ 18 ปี แต่พ่อแม่ก็ปล่อยให้ขับรถออกมาห้าง หรือไปเที่ยวทะเลดูคอนเสิร์ตริมหาด ตรงนี้สร้างความยุ่งยากให้ประชาชนที่ใช้ถนนร่วมกันมาก ผิดกฎหมาย ประกันถือว่าโมฆะ ความสูญเสียมากมายที่ตามมา และอาจนำไปสู่การคอร์รัปชันหลายรูปแบบ

เรื่องต่อมาที่ต้องใส่ใจ คือ ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยชั้น 1 และ 2 ค่าเบี้ยประกันภัยจะสัมพันธ์กับวงเงินทุนประกันภัยรถของคุณเป็นหลัก เช่น ทุนประกันภัยรถสูง = ค่าเบี้ยแพง ดังนั้น เมื่อพบอัตราเบี้ยที่แตกต่างกันให้สังเกตดูว่าทุนประกันภัยและความคุ้มครองอื่นๆ ที่สูงกว่านั้นคุ้มค่าตามความต้องการหรือไม่

บริษัทประกันภัยจะไม่คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้น ในกรณีที่ผู้ขับขี่ดื่มเหล้าและเกิดอุบัติเหตุ...โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง และพึงสังวรไว้ให้มากเรื่องนี้

การนำรถที่ถูกชนมาก่อนมาทำประกันภัยโดยไม่เปิดเผย ถือเป็นการหลอกลวง บริษัทประกันภัยมีสิทธิไม่รับประกันภัยรถของคุณ หรือหากตรวจพบในภายหลังให้ถือว่าสัญญาเป็นโมฆียะ หรือไม่สามารถนำมาใช้ได้

ความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ จะคุ้มครองเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น

โดยทั่วไป บริษัทประกันภัยจะไม่รับประกันภัยรถที่มีการโหลด ตกแต่ง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์

บริษัทประกันภัยจะไม่คุ้มครอง ในกรณีนำรถไปใช้ผิดประเภท เช่น นำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลนำไปใช้รับจ้าง

...เมื่อเกิดเหตุคุณควรทำอย่างไร

แจ้งอุบัติเหตุทันทีต่อบริษัทประกันภัยตามหมายเลขโทรศัพท์ที่บริษัทประกันภัยให้ไว้ มักจะให้มาในรูปแบบของสติกเกอร์ติดกระจกหน้ารถ

เมื่อเจ้าหน้าที่บริษัทดำเนินการสำรวจความเสียหายแล้ว จะให้ใบรับแจ้งเหตุไว้ นำเอกสารดังกล่าวไปให้บริษัทประกันภัยคุมราคาทรัพย์สินที่เสียหายก่อนทำการซ่อม หลังจากนั้น นำรถเข้าซ่อมกับอู่ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กม.ใหม่‘อำนาจคปภ.’เฮี้ยบ!ช็อค!ร่างแก้2พรบ.ประกันทั้งฉบับ

กม.ใหม่‘อำนาจคปภ.’เฮี้ยบ!ช็อค!ร่างแก้2พรบ.ประกันทั้งฉบับ
วงการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต่างพากันช็อค! คาดไม่ถึงว่าคปภ.จะซุ่มเงียบจ้างมูลนิธิสำนักงานกฤษฎีกาให้เขียนร่างพ.ร.บ.ประกันชีวิต-ประกันวินาศภัยแก้ไขใหม่
  จนจู่ๆ เพิ่งจะโผล่มาทำประชาพิจารณ์และเร่งรัดให้เอกชนสรุปความเห็นและทำเรื่อง คัดค้านเอาเพียงไม่    กี่วันนี้เอง ร้อนถึงนายกสมาคมประกันวินาศภัยและนายกสมาคมประกันชีวิตไทยต้องทำหนังสือ ผ่อนผัน ขอขยายระยะเวลาทำสรุปข้อคิดเห็นเลื่อนออกไปก่อนเป็นเดือน  ก.ย. และต.ค.ตามลำดับ จากเดิมที่ขีดเส้นตายจะให้ทั้งสองสมาคมฯ ส่งภายใน 31 ส.ค.นี้ วงการผวา! หากปล่อยร่างพ.ร.บ.ฯ ทั้งสองฉบับออกมา จะเป็นการขยายอำนาจให้   คปภ.เฮี้ยบมากขึ้น
แหล่งข่าวจากวงการประกันชีวิต  กล่าวว่า  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ได้มีจัดให้มีการประชุม Public Hearing  ให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจประกันภัยได้เข้ามาฟังเมื่อวันที่  30 มิ.ย.55 ที่โรงแรมเลอคองคอร์ด  พร้อมได้จัดพิมพ์ตัวร่างพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ........ และตัวร่างพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ........แจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมงานในวันนั้นจำนวน 300 คน   ทำเอาหลายคนที่เข้าร่วมประชุมต่างงงไปตามๆกัน    เพราะไม่คิดว่า จะมีการแก้ไขยกร่างใหม่ทั้งหมดเลย   โดยเท่าที่ทราบมาได้มีการไปว่าจ้างมูลินิธิกฤษฏีกาขึ้นมายกร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ขึ้นมา   ซึ่งในทรรศนะของผู้เข้ารับฟังและผู้ประกอบการเอกชนส่วนใหญ่ในวันนั้นต่างก็ไม่เห็นด้วยเลย   เพราะนึกว่าจะแก้เพียงบางมาตราให้สอดรับกับบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2551  ในบางมาตราที่เกี่ยวข้อง  แต่นี่กลับกลายเป็นแก้ใหม่หมดทั้งเล่มก็ว่าได้
                  
จริงอยู่ในบางมาตราอาจจะเป็นการเขียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยเขียนระบุไว้เลยอย่างเช่น ในมาตรา 16   ซึ่งเมื่อก่อนมันเป็นมาตรา 10 ที่บอกว่า บริษัทต้องมีกรรมการสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของกรรมการทั้งหมด และต้องถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ  75  ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดแล้ว แต่ของใหม่ได้คลี่คลายขึ้น  แต่มันก็ยังดีกว่าของเดิมนิดหนึ่งตรงที่เขียนสั้นกว่านี้  และได้เขียนแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจคณะกรรมการคปภ.อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ถ้าหากในกรณีมีต่างชาติถือเกินร้อยละ  25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49   ก็ให้คปภ.เป็นผู้อนุญาต  แต่ถ้าเป็นเหตุจำเป็น  รมว.คลังโดยความเห็นชอบคปภ. มีอำนาจผ่อนผันให้บริษัทมีจำนวนหุ้นและกรรมการแตกต่างออกไปได้  
                   
หรือกระทั่งในมาตรา 19 บอกว่า บุคคลใดมีหุ้นกับบริษัทไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตั้งแต่ร้อยละ 5 ขึ้นไปของหุ้นที่จำหน่าย   บุคคลนั้นต้องรายงานต่อนายทะเบียนซึ่งของเดิมไม่กำหนด  อันนี้มันจะทำให้ยุ่งยาก   ขึ้นสำหรับบางบริษัท  แต่เข้าใจเจตนาดีว่า ต้องการให้บริษัทประกันชีวิตเป็นมหาชนอย่างแท้จริง  หรือกระทั่งที่ระบุว่า ไม่ให้ถือหุ้นทั้งหมดเกินกว่า ร้อยละ 10  กล่าวคือหุ้น 100 บาท  คนหนึ่งจะถือเกินกว่า 10 บาทขึ้นไปไม่ได้

เว้นเสียแต่ถ้าคณะกรรมการฯอนุญาต ก็สามารถทำได้ซึ่งร่างกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นการให้อำนาจคปภ.มากขึ้นจากเดิมแทบจะหลายมาตราด้วยกัน   ซึ่งไม่เข้าใจเลยว่า เวลาคปภ.จะเขียนกฎหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง   แทนที่จะเอาหลักการขึ้นก่อน แต่นี่กลับไปเอาดุลยพินิจขึ้นมาเป็นข้อพิจารณาก่อนเลย ซึ่งเท่าที่ดูเนื้อหาในแต่ละมาตราล้วนแล้วแต่หฤโหด  ถึงกับมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการเวลานี้ว่า  ร่างกฎหมายดังกล่าวเฮี้ยบมาก  ถึงขนาดเอาบริษัทประกันถึงตายกันเลย    
                   
ยกตัวอย่างอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ  ในตัวร่างฯมีมาตราหนึ่งในเรื่องของการควบคุมบริษัท   ซึ่งระบุไว้ในร่างใหม่ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมบริษัทรายงานว่า  บริษัทที่ถูกควบคุม ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้  ก็ให้คณะกรรมการคปภ.สั่งปิดบริษัทได้เลย และก็เสนอให้รมว.คลังเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยให้ทำแล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่คณะกรรมการเสนอเรื่องขึ้นไป ซึ่งประเด็นที่มันโหดเกินไปก็คือ  หากรมว.คลังพิจารณาไม่เสร็จภายในระยะเวลา 30 วัน    ก็ถือว่า รมว.คลังมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตไปเลย  ซึ่งมันไม่ถูกต้องเพราะหากเกิดรมว.คลังไม่ว่างหรือติดภาระกิจในวันนั้นขึ้นมาล่ะ  เราจะทำยังไง      
                   
“ผมว่า  คนที่ร่างเขาคงจะไปล้อกับกฎหมายของสถาบันการเงินของธนาคาร  แล้วหยิบเอามาเป็นตัวบทกฎหมายขึ้นมาใช้เลย  ทั้งๆที่ลักษณะของงานอาจจะต่างกันบ้าง  ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วการร่างกฎหมายมันต้องเกิดจากประสบการณ์ และเกิดจากลักษณะงานจริงๆ ไม่ใช่ไปกอปปี้ของต่างชาติที่เขามีวัฒนธรรมหลากหลายต่างกันออกไปแล้วนำมาใช้ได้เลย  และที่สำคัญในเนื้อหาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงการไปเกี่ยวข้องกับเออีซีหรือการประชุมเศรษฐกิจอาเซียนเสียเท่าไหร่เลย  ที่ซ้ำร้ายพอทำ Public Hearing บอกว่า นี่เป็นร่าง  และให้แต่ละบริษัทที่หากจะคัดค้าน  ก็ให้ทำเรื่องคัดค้านมาภายในเดือนส.ค.นี้  ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้  เพราะไม่มีทางดูได้ทัน” แหล่งข่าวรายนี้กล่าวทิ้งท้าย
                            
ด้านนายสาระ  ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสมาคมประกันชีวิตไทยชุดใหม่เพิ่งเข้ามาเริ่มงาน  ซึ่งเป็นช่วงรับไม้ต่อจากคณะกรรมการชุดเก่า  จึงทำให้เราศึกษาในรายละเอียดไม่ทัน   จึงได้ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาส่งความเห็นให้ต่อคปภ.ออกไปเป็นปลายเดือน ต.ค.55  พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งซึ่งตนเองจะรับหน้าทำเป็นประธานดูเรื่องนี้พร้อมกับคณะ
โดยเราจะพยายามดูให้แล้วเสร็จในเร็ววันนี้   เพื่อจะได้ข้อสรุปนำเข้าไปพูดคุยกับทางคปภ.ในเรื่องนี้อีกที
                            
ขณะที่นายอรัญ  ศรีว่องไทย   กรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัย  เปิดเผยว่า    การแก้ไขพ.ร.บ.ฯขึ้นมาใหม่  กว่าจะเอาเข้าสภาฯ   ก็ยังไม่รู้กี่ปี  แต่เท่าที่ดูจากตัวร่างที่ส่งมาให้  มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมาเอาความเห็นสรุปจากภาคธุรกิจในเวลาสั้นๆ แล้วนำไปร่างเลยทันที   ทั้งนี้มันคงเป็นเพียงแต่คปภ.ได้ขอความเห็น
เข้ามาเท่านั้น    
                           
“ภาคธุรกิจก็ได้บอกท่านเลขาธิการคปภ.หรือท่านประเวช  สิทธิองอาจกุลไปแล้วว่า ในเรื่องนี้เรามาทำงานร่วมกันดีไหม   ซึ่งผมเพิ่งจะได้รับมา   การจะขอคอมเม้นท์ในวันที่ 31 ส.ค.55นี้ ผมบอกว่า มันไม่ได้   เพราะนี่มันยกร่างใหม่หมด  ไม่ใช่แก้เพียงบางมาตรา    หมวดที่เดิมเคยมีอยู่ไม่กี่หมวด  แต่ของใหม่เพิ่มขึ้นมา12 หมวด     บางเรื่องเท่าที่เราดูกันในที่ประชุมกันไป  เราก็เจอว่า มันเหมือนการไปตัดแปะมา  โดยที่ไม่ได้แก้อะไรเลย   อย่างปีหน้าเราต้องเป็นมหาชน (เดือนก.พ.56 ต้องเป็นมหาชน)   ซึ่งมันมีบางมาตราเอามาใช้ไม่ได้แล้ว  และในส่วนของกฎเหล็กอาร์บีซี มันก็ต้องมาดูกันว่า ข้อเท็จจริงมันเป็นยังไง   บางอันก็สวนทางกับการปฎิบัติ    โดยเฉพาะข้อสำคัญนี่คือเป็นการเอากฎหมายของอเมริกา  ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์  สิงคโปร์  หรือมาเลเซียมาผสมผสานกันร่างออกมา    โดยมันเหมือนเอาลูกผสมมาเปรียบเทียบและเทียบเคียง    แล้วก็อ้างว่า ปี 58 เออีซีจะมาแล้ว  จึงจำเป็นต้องทำให้ใกล้เคียง” นายอรัญกล่าวและว่า   
                            
ด้วยเหตุนี้เองทางบอรด์บริหารสมาคมประกันวินาศภัยจึงได้มีการนำเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุม จนในที่สุดจึงได้มีมติออกมาว่า เห็นควรจะทำหนังสือขยายระยะเวลาในการส่งข้อคิดเห็นไปยังคปภ.ออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ย.55  และได้ตั้งให้ตนเองเป็นคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้พร้อมกับตัวแทนที่มาจากคณะอนุกรรมการประกันภัยชุดต่างๆรวมเบ็ดเสร็จ 19 คนเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นนี้ ซึ่งจากการประชุมไปแล้วนัดแรกเม่อวันที่  7 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีข้อสรุป  เพียงแต่คณะทำงานได้มาวางโครงกันว่า  จะคุยเป็นรายประเด็นไหนบ้าง  โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นพ้องต้องกันว่า จะให้เส้นตายทำเรื่องนี้ให้จบภายในวันที่ 20 ก.ย.นี้  และจัดส่งให้เจ้าหน้าที่สมาคมฯจัดพิมพ์ให้แล้วเสร็จเพื่อส่งต่อให้ทางคปภ.ได้ทันในวันที่  30 ก.ย.นี้ 
อ้างอิง : นสพ.เส้นทางนักขาย ฉบับที่ 234 ปักษ์หลัง ประจำวันที่ 16-31 สิงหาคม 2555

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คปภ. เผยตัวเลขธุรกิจประกันภัย 5 เดือนแรก โต 19 %

นายประเวช องอาจสิทธิกุลเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.)เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันภัยช่วงเดือนม.ค. - พ.ค. 2555ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 2.15 แสนล้านบาทขยายตัว 19.00% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แยกเป็นธุรกิจประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง รวมทั้งสิ้น 1.45 แสนล้านบาทขยายตัว 16.98% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด คือ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 1.21 แสนล้านบาท ขยายตัว 17.66% รองลงมาการประกันชีวิตประเภทกลุ่ม จำนวน 1.81 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 17.52% และการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจำนวน 2,078 ล้านบาท ขยายตัว  12.15%

ธุรกิจประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง รวมทั้งสิ้น 6.97 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 23.46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด คือ การประกันภัยรถ จำนวน 4.05 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 19.08% รองลงมาการประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 2.30 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 33.86% และ การประกันอัคคีภัย จำนวน 4,115 ล้านบาท ขยายตัว 23.33%

ทั้งนี้ วันที่ ณ 31 พฤษภาคม 2555 มีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรายใหม่ รวมทั้งสิ้น 21.51 ล้านราย ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.72%  คิดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยรวม 32.77 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต จำนวน 2.19 ล้านราย เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,426 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.47% และกรมธรรม์ประกันวินาศภัย จำนวน 19.31 ล้านราย ขยายตัว 11.84% เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัย 3.13 หมื่นล้านล้านบาทhttp://spser.com/board/index.php?topic=297.0

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ใบสั่งหายต้องทำอย่างไร


ในกรณีที่ผู้ขับขี่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกใบสั่งให้ แล้วดันทำหายไปเมื่อต้องการที่จะไปจ่ายค่าปรับตามใบสั่งให้ถูกต้อง จะต้องทำอย่างไรบ้าง ในกรณีนี้กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) มีข้อชี้แจงว่า หากทำใบสั่งหายถ้าเป็นใบสั่งที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเขียนใบสั่งนั้น ๆ ให้ ให้ไปติดต่อยังสถานีตำรวจที่ออกใบสั่งให้ ในวันและเวลาราชการ โดยต้องแจ้งความกรณีใบสั่งหายก่อน หลังจากนั้นจึงทำการจ่ายค่าปรับตามข้อหาที่ระบุในใบสั่งนั้น แต่ถ้าเป็นใบสั่งที่ออกโดยกล้องจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร หรือ เรดไลต์คาเมร่า ให้ติดต่อขอคัดสำเนาใหม่ ที่ บก.จร. เลขที่ 123 หมู่  2 ถนนวิภาวดี รังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 ในวันและเวลาราชการและสามารถชำระค่าปรับได้ที่ ชั้น 1 บก.จร.เช่นกัน ทั้งนี้ผู้ขับขี่ถูกออกใบสั่ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ถูกยึดใบขับขี่ด้วย หรือเป็นเพียงใบสั่งลอยที่แปะไว้ที่หน้ารถ หรือเป็นใบสั่งที่ส่งถึงบ้าน ก็ควรไปจ่ายค่าปรับให้เรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมาย หลีกเลี่ยงปัญหาถูกอายัดทะเบียนตอนไปชำระภาษีประจำปี.
แหล่งที่มา http://spser.com/board/index.php?topic=253.0